4 เคล็ดไม่ลับที่จะช่วยให้คุณสัมภาษณ์งานเป็นภาษาอังกฤษได้ดีขึ้น
ภาษาอังกฤษกลายเป็นทักษะพื้นฐานของคนทำงานทั่วไปในโลกยุคปัจจุบัน โดยเฉพาะอย่างยิ่งเมื่อประเทศไทยเข้าสู่ประชาคมเศรษฐกิจอาเซียน (AEC) อย่างเป็นทางการที่เปิดโอกาสให้คนหลากหลายอาชีพจากประเทศสมาชิกสามารถไปทำงานในกลุ่มประเทศอาเซียนได้ง่ายขึ้น และหากคุณกำลังสมัครงานหรือมีโอกาสที่จะเข้าไปทำงานในบริษัทข้ามชาติที่ใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสาร ย่อมหนีไม่พ้นการสัมภาษณ์งานเป็นภาษาอังกฤษอย่างแน่นอน วันนี้ผมมีเคล็ดลับง่ายๆ ที่จะช่วยให้คุณเตรียมพร้อมสำหรับการสัมภาษณ์งานเป็นภาษาอังกฤษได้ดียิ่งขึ้นครับ
1.ศึกษาบริษัทว่าที่นายจ้างของเรา
คงไม่ดีแน่หากเราเข้าสัมภาษณ์งานโดยไม่รู้อะไรเลยเกี่ยวกับบริษัทที่เรากำลังจะเข้าไปทำงานด้วย การค้นคว้าหาข้อมูลเกี่ยวกับบริษัทที่เรียกเราไปสัมภาษณ์งานจึงเป็นสิ่งที่ควรทำอย่างยิ่ง การหาข้อมูลของบริษัทผ่านทางเว็บไซต์หรือสื่อสังคมออนไลน์ต่างๆ สามารถช่วยให้เรารู้จักว่าที่นายจ้างของเราได้ดียิ่งขึ้นว่า บริษัททำธุรกิจเกี่ยวกับอะไร แล้วเราน่าจะพัฒนาเพิ่มศักยภาพของบริษัทได้อย่างไรบ้างในตำแหน่งที่เราจะเข้าไปทำงาน รวมทั้งยังช่วยให้เราได้เรียนรู้คำศัพท์ภาษาอังกฤษต่างๆ ที่ควรรู้จากเว็บไซต์ โดยเฉพาะถ้าเราไปสัมภาษณ์งานเป็นภาษาอังกฤษเพื่อตำแหน่งงานหรือสายงานที่เราไม่คุ้นเคย เพื่อสร้างความคุ้นเคยในการใช้คำศัพท์เหล่านั้นและตอบคำถามสัมภาษณ์งานได้ดียิ่งขึ้น
2.ทำความรู้จักผู้สัมภาษณ์
หากคุณทราบชื่อผู้ที่จะสัมภาษณ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งในกรณีที่มีผู้สัมภาษณ์มากกว่า 1 คน คุณควรจะลองทำความรู้จักคนเหล่านี้ผ่านทางเว็บไซต์หรือสื่อสังคมออนไลน์เช่นกัน เพื่อให้ทราบชื่อ หน้าตา ตำแหน่งหน้าที่ในบริษัท วิธีนี้จะช่วยให้คุณลดอาการประหม่าเมื่อต้องพบกับกรรมการสัมภาษณ์งานในวันสัมภาษณ์งานได้
3.เตรียมคำถามและซ้อมการให้คำตอบ
หลังจากที่คุณทำความรู้จักบริษัทและผู้สัมภาษณ์แล้ว ให้คิดรายการคำถามที่คุณคาดว่าน่าจะเจอในการสัมภาษณ์ จากนั้นให้คุณลองซ้อมตอบคำถามเหล่านั้น เช่นเดียวกับการเส้นทางไปสู่คาร์เนกี้ฮอลของนักดนตรีระดับโลก การซ้อม ซ้อม ซ้อม แล้วก็ซ้อม คือกุญแจสำคัญที่จะช่วยให้คุณตอบคำถามในวันสัมภาษณ์จริงๆ ได้อย่างมั่นใจและไม่ประหม่า ในขณะเดียวกัน คุณก็ควรเตรียมคำถามเพื่อถามกับกรรมการผู้สัมภาษณ์เกี่ยวกับบทบาทหน้าที่ที่อาจจะได้รับมอบหมาย หรือสิ่งต่างๆ ที่คุณจะช่วยให้คุณเห็นภาพชัดขึ้นถึงการทำงานในบริษัทนั้นๆ การถามคำถามแสดงให้กรรมการที่สัมภาษณ์คุณเห็นว่าคุณไม่เพียงมาสัมภาษณ์เท่านั้น แต่ยังให้ความสนใจและกระตือรือล้นที่จะทำงานให้กับว่าที่นายจ้างเหล่านี้ด้วย
4.ตอบคำถามให้ชัดเจนและง่าย พร้อมความมั่นใจ
จำไว้ว่า สิ่งสำคัญในการให้สัมภาษณ์คือการสื่อสารที่สัมฤทธิผลและชัดเจน ดังนั้น คุณไม่จำเป็นต้องใช้คำศัพท์ที่ดูหรูหราเป็นคำศัพท์ Slang หรือประโยคที่ซับซ้อนเกินจำเป็นที่อาจทำให้คู่สนทนาสับสนหรือไม่แน่ใจว่าคุณต้องการจะสื่ออะไรกันแน่ โดยเฉพาะอย่างยิ่งหากคุณไม่ใช่คนที่มั่นใจในการใช้ภาษาอังกฤษของตัวเองมากนัก การสื่อสารให้เป็นธรรมชาติ ชัดเจนด้วยความมั่นใจและเข้าใจได้ง่ายมีความสำคัญและช่วยเพิ่มโอกาสที่คุณจะได้งานจากการสัมภาษณ์ครับ
นอกจากนี้ การแต่งตัวที่สุภาพเหมาะกับกาลเทศะ การไปถึงก่อนเวลาสัมภาษณ์ประมาณ 15-25 นาที และพยายามไม่ใช้มือถือระหว่างรอสัมภาษณ์ ยังช่วยสร้างภาพลักษณ์ที่ดีให้กับว่าที่นายจ้างและเพื่อนร่วมงานของคุณอีกด้วย
จำไว้ว่าสิ่งสำคัญที่สุดคือการสื่อสารที่ทำให้คู่สนทนาของเราเข้าใจและการซ้อมจะช่วยให้คุณประสบความสำเร็จได้