ข้อจำกัดของการสอนแบบ Audio-Lingualism ที่มาของคำตอบ I’m fine, thank you. And you? ของนักเรียนไทย
หลายๆ คนน่าจะเคยได้ยินหรือมีประสบการณ์ในการเรียนภาษาอังกฤษแบบที่เราโดนป้อนคำถามทีละคำถามแล้วให้เราตอบคำถามเหล่านั้นไปเรื่อยๆ หากตอบผิดก็จะมีคุณครูหรือโปรแกรมคอมพิวเตอร์เตือนขึ้นมาทันทีว่า เราตอบผิดนะ ให้ตอบใหม่หรือเลือกคำตอบใหม่จากที่เตรียมไว้ให้ถูกต้องกันมาบ้างนะครับ หากยังนึกไม่ออก ลองดูภาพตัวอย่างบทสนทนาด้านล่างต่อไปนี้นะครับ
พอจะคุ้นๆ มากขึ้นไหมครับ? วิธีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษแบบนี้เรียกว่า audio-lingualism เป็นวิธีการสอนที่นิยมกันมากในโดยเฉพาะโรงเรียนที่สอนภาษาอังกฤษผ่านคอมพิวเตอร์ โดยนักเรียนจะนั่งฟังประโยคและคำถามต่างๆ จากคอมพิวเตอร์หรือจากคุณครู (ที่อาจอ่านจากหนังสือหรือ PowerPoint ให้ฟัง) จากนั้นนักเรียนจะพูดซ้ำหรือพูดตามประโยคที่คอมพิวเตอร์หรือคุณครูบอกว่าเป็นคำตอบที่ถูกต้องจนกระทั่งนักเรียนสามารถจดจำคำตอบที่ถูกต้องสำหรับคำถามและประโยคต่างๆ เหล่านั้นได้ทั้งหมด นักเรียนจึงจะได้ผ่านขึ้นไปเรียนในระดับถัดไปได้
แม้ว่าวิธีการเรียนการสอนแบบ audio-lingualism นี้อาจช่วยให้บางคนสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ แต่ก็ยังมีข้อจำกัดบางประการที่อาจทำให้นักเรียนบางคนไม่สามารถสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษได้อย่างมีประสิทธิภาพเท่าที่ควร วิธีการสอนแบบนี้ถูกวิจารณ์ว่าเป็นการฝึกฟังและพูดซ้ำๆ มากกว่าการฝึกให้นักเรียนมีความพร้อมในการสื่อสารเป็นภาษาอังกฤษที่มีความหลากหลายของคำถามและคำตอบ ซึ่งมากกว่าคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียวที่คอมพิวเตอร์หรือคุณครูบอกเราว่าถูกต้องเท่านั้น ขณะเดียวกันมีงานวิจัยที่ระบุว่า แม้ว่าวิธีนี้จะเป็นวิธีที่ดีในการสอนนักเรียนกลุ่มใหญ่ แต่นักเรียนที่เรียนด้วยวิธีนี้กลับไม่สามารถนำทักษะจากการฝึกแบบนี้ในห้องเรียนไปใช้ในการสนทนาภาษาอังกฤษในชีวิตประจำวันได้[1]
เช่น เมื่อนักเรียนถูกสอนมาให้ตอบแบบในภาพข้างต้นในการทักทายชาวต่างชาติ แต่หากว่าชาวต่างชาติตอบกลับมาหลังจากนักเรียนทัก Hello ไปว่า “Oh. I’m a bit sick today. I have a headache.” (โอ้ ผมรู้สึกป่วยนิดหน่อยในวันนี้ ผมรู้สึกปวดหัว) นักเรียนส่วนใหญ่มักไปต่อไม่ถูกเพราะไม่รู้ว่าควรตอบสนองต่อบทสนทนานี้อย่างไร เพราะนักเรียนคาดหวังว่า คู่สนทนาควรจะตอบกลับมาว่า “I’m fine. Thank you. And you?” สิ
ดังนั้น วิธีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่ดีควรเป็นการเตรียมความพร้อมที่จะใช้ภาษาอังกฤษในสถานการณ์จริงให้กับนักเรียนมากกว่าการจดจำคำตอบที่ถูกต้องเพียงคำตอบเดียวเท่านั้น เพราะนอกจากการท่องจำจะทำได้ยาก น่าเบื่อ และไม่ได้ช่วยให้พูดภาษาอังกฤษได้จริงๆ แล้ว การคุยกับคนจริงๆ ยังมีคำตอบได้หลากหลายมากกว่าหนึ่งคำตอบเสมอครับ
เครดิตรูปภาพ: pexels.com
อ้างอิง [1] LIU Qing-xue and SHI Jin-fang, “An Analysis of Language Teaching Approaches and Methods – Effectiveness and Weakness,” US-China Education Review, Vol.4, No.1, 69-71 (Jan., 2007).