ทำไมท่อง grammar ทั้งวันแต่ก็ยังพูดภาษาอังกฤษไม่ได้
หนึ่งในวิธีการเรียนการสอนภาษาอังกฤษที่เป็นที่คุ้นเคยกันมากที่สุดในเมืองไทยคือ Grammar Translation ซึ่งมีลักษณะสำคัญคือ
เน้นการอ่านและเขียน (ในแบบเรียน)
คำศัพท์จะถูกสอนด้วยการแปลศัพท์ภาษาอังกฤษคู่กับภาษาท้องถิ่น (เช่น book = หนังสือ) และเน้นการท่องจำ
สอนด้วยการแปลทีละประโยคให้นักเรียนฟัง
เน้นย้ำกับผู้เรียนว่าคำตอบหรือประโยครูปแบบใดผิดรูปแบบใดถูก
เน้นเรียนไวยากรณ์
อ่านแล้วคุ้นๆไหมครับว่า เป็นวิธีการสอนที่เราคุ้นเคยกันในโรงเรียนไทยมานาน หลายคนสามารถผ่านการทดสอบในแต่ละระดับชั้นมาได้ด้วยวิธีการสอนแบบนี้ ในขณะที่อีกหลายๆคนก็สอบไม่ผ่านด้วยวิธีการสอนแบบนี้เช่นกัน แถมยังมีคำถามคาใจสำหรับนักเรียนและผู้ปกครองอีกหลายๆ คนว่า “ทำไมนักเรียนซึ่งอธิบายได้อย่างดีว่า อะไรคือ present perfect tense ตอบข้อสอบได้ว่าคำไหนคือคำนามหรือคำคุณศัพท์ จึงไม่สามารถพูดสื่อสารภาษาอังกฤษหรือเข้าใจภาษาอังกฤษที่ชาวต่างชาติพูดมาได้?”
คำอธิบายสำหรับคำถามนี้ก็คือ ความสามารถในการใช้ภาษาทุกภาษาในโลก (รวมทั้งภาษาอังกฤษ) เพื่อการพูดคุยสื่อสารเป็นทักษะที่ต่างจากวิชาความรู้อย่างฟิสิกส์ เคมี คณิตศาสตร์ หรือวิทยาศาสตร์ที่พอเราเรียนรู้กฎหรือความรู้ในวิชาเหล่านี้แล้ว เราสามารถนำความรู้เหล่านั้นไปใช้ได้ในทันที ยกตัวอย่างเช่น เมื่อเรารู้ว่าพระอาทิตย์ขึ้นทางตะวันออกและตกทางตะวันตก หรือโลกหมุนรอบดวงอาทิตย์ด้วยกฎมือขวา เราสามารถถูกทดสอบหรือวัดผลได้ว่า เราจำกฎเหล่านั้นหรือนำกฎเหล่านั้นไปใช้ได้มากน้อยเพียงใด
ในขณะที่ทักษะการใช้ภาษานั้น เราไม่จำเป็นต้องรู้กฎไวยากรณ์ใดๆ ของภาษาที่เราต้องการพูดอย่างทะลุปรุโปร่ง เราก็สามารถใช้ภาษานั้นๆ เพื่อการสื่อสารได้ เราเพียงแต่ต้อง “ฟัง” “สังเกต” และ “เดา” เพื่อฝึกใช้ภาษาในการสื่อสารกับผู้อื่น นี่จึงเป็นเหตุผลที่ว่าทำไมเด็กๆ จึงพูดภาษาแม่ของตัวเองได้ ไม่ว่าจะเป็นเด็กไทยหรือเด็กฝรั่งที่พูดภาษาอังกฤษ ทั้งๆที่พวกเขาไม่สามารถอธิบายเกี่ยวกับไวยากรณ์ต่างๆ ของภาษานั้นได้เลย
ยิ่งไปกว่านั้น การเรียนแต่ไวยากรณ์ยังทำให้ผู้เรียนรู้สึกกลัวที่จะพูดหรือ “เดา” ผิดแล้วจะถูกตำหนิจากครูหรือโดนหักคะแนนอีกด้วย โดยเฉพาะในระบบการเรียนการสอนที่เน้นการสอบแบบตัวเลือกหรือ multiple choices ในทำนองเดียวกัน การสนทนาภาษาอังกฤษในชีวิตจริงก็ไม่ได้มีเวลามากพอที่จะให้นักเรียนต้องระลึกถึงกฎต่างๆ มากมายก่อนที่จะพูดออกมาเป็นประโยคอีกด้วย ลองนึกภาพตามดูก็ได้ครับว่า ถ้าเราโดนชาวต่างชาติถามว่าจะไปที่สถานีรถไฟได้อย่างไร แล้วเรามามัวนึกว่าต้องใช้ Tense ไหน ต้องเปลี่ยนคำกริยาเป็นช่องไหนในการตอบ คนถามอาจไม่ทันได้อยู่รอคำตอบจากเราก็ได้ครับ
นอกจากนี้ การท่องจำกฎไวยากรณ์ภาษาอังกฤษทั้งหมดยังเป็นเรื่องที่ “แทบเป็นไปไม่ได้” สำหรับนักเรียนส่วนใหญ่ เพราะการทำเช่นนั้นจำเป็นต้องใช้เวลานานมากๆ ในการจดจำกฎทั้งหมด ซึ่งยังมีข้อยกเว้นบางอย่างอีกมากมายที่แม้แต่เจ้าของภาษาเองก็อาจจะอธิบายในเชิงไวยากรณ์ไม่ได้ด้วยซ้ำว่า ทำไมถึงต้องพูดหรือใช้ภาษาอังกฤษแบบนี้ (แถมยังน่าเบื่อสำหรับเด็กนักเรียนอีกด้วย)
อีกตัวอย่างที่ดีมากๆ สำหรับการอธิบายเรื่องนี้คือ นักเรียนไทยและนักเรียนต่างชาติที่ไม่ได้เป็นเจ้าของภาษาและเรียนอยู่ในโรงเรียนนานาชาติหรือโครงการ English Program ในระดับอนุบาลหรือประถม แน่นอนว่าพวกเขายังไม่ได้เรียนไวยากรณ์ภาษาอังกฤษทั้งหมดอย่างแน่นอนและก็อาจจะยังพูดผิดไวยากรณ์อยู่บ้าง แต่พวกเขาก็สามารถใช้ภาษาอังกฤษได้ สามารถสื่อสารกับชาวต่างประเทศได้ และไม่กลัวที่จะใช้ภาษาอังกฤษครับ
โดยสรุปแล้ว เราไม่ได้บอกว่า ไวยากรณ์ไม่สำคัญนะครับ แต่มันอาจไม่ได้สำคัญมากที่สุด ดังนั้นหากเป้าหมายของเราคือการฝึกให้เด็กนักเรียนสามารถพูดภาษาอังกฤษได้ เราก็ควรใช้วิธีการสอนที่เปิดโอกาสให้เขาได้ฟังและได้พูดโดยไม่กลัวว่าจะพูดผิดหรือโดนตำหนิหากพูดผิด เพื่อให้เขาได้ฝึกฝนเรียนรู้ที่จะใช้ภาษาอังกฤษอย่างแท้จริง และสนุกไปกับมันไปพร้อมๆกัน
เครดิตรูปภาพ: https://computersciencegeeks.files.wordpress.com