เราจะช่วยให้เด็กอยากเรียนภาษาอังกฤษได้อย่างไร
ในปัจจุบัน เราได้รับรู้ข่าวสารว่าโรงเรียนหลายๆ แห่งในประเทศไทยต้องการพัฒนาการเรียนการสอนภาษาอังกฤษ เราได้รู้จากสื่อต่างๆ มากมายว่าโรงเรียนสามารถปรับปรุงหลักสูตร อบรมครูหรือแม้แต่พัฒนาการสอบวัดผล แต่สิ่งหนึ่งที่เรากลับไม่ได้รับรู้มากนักคือเราจะสร้างแรงจูงใจให้นักเรียนของเราอยากเรียนภาษาอังกฤษได้อย่างไร
แน่นอนว่า ในประเทศไทยมีปัจจัยมากมายที่ส่งผลต่อโอกาส และความสนใจต่อการเรียนภาษาอังกฤษของเด็กๆ และหนึ่งในปัจจัยที่สำคัญก็คือระดับอายุของเด็กนักเรียนเอง
ปัจจุบันนักเรียนไทยหลายคนได้เรียนภาษาอังกฤษตั้งแต่ยังเล็กๆ มีหลักสูตรภาษาอังกฤษสำหรับเด็กเกิดขึ้นมากมายหากเทียบกับเมื่อในช่วง 5 ปี 10 ปีที่ผ่านมา
แน่นอนว่า ด้วยความเป็นเด็ก พวกเขาเองก็ไม่รู้หรอกครับว่า ทำไมตนเองต้องเรียนภาษาอังกฤษ และด้วยเหตุนี้ ความสนุกจึงมักเป็นแรงจูงใจหลักของพวกเขา หากเด็กๆ รู้สึกสนุกในสิ่งที่พวกเขาทำ พวกเขาก็จะมีความสนใจในสิ่งนั้นๆ ในทางกลับกันหากเขารู้สึกเบื่อกับสิ่งที่ทำ เด็กๆก็จะไม่สนใจและหันไปทำอย่างอื่นแทน ดังนั้น การสอนเด็กวัยนี้จึงสามารถใช้วิธีคิดแบบง่ายๆ ด้วยการทำให้พวกเขารู้สึกสนุกในการทำสิ่งต่างๆ ซึ่งก็รวมทั้งการเรียนภาษาอังกฤษด้วย
เมื่อเด็กๆ เข้าสู่ระดับชั้นประถม ความสนุกก็ยังคงความสำคัญอยู่เช่นเดิม
นักเรียนควรรู้สึกสนุกในการเรียนภาษาอังกฤษเพื่อช่วยให้พวกเขาสนใจภาษาอังกฤษ เมื่อครูทำให้พวกเขารู้สึกสนุกได้ พวกเขาก็จะอยากเข้าเรียน อยากให้ความร่วมมือในการทำกิจกรรม กล้าพูดกล้าแสดงออก และตั้งใจทำแบบฝึกหัดต่างๆ พร้อมกับค่อยๆ เพิ่มพูนคลังศัพท์ให้กับตัวเองได้อย่างต่อเนื่อง
สาเหตุที่ความสนุกยังคงเป็นปัจจัยสำคัญในการเรียนรู้สำหรับเด็กในวัยนี้ เป็นเพราะส่วนใหญ่แล้วเด็กวัยนี้ยังไม่ตั้งคำถามกับตัวเองว่า ทำไมพวกเขาต้องเรียนภาษาอังกฤษด้วย
เมื่อเข้าสู่ระดับชั้นป.6 เด็กๆจะเข้าสู่วัยที่เริ่มตั้งคำถามกับตัวเองว่า ตนเองชอบอะไรและไม่ชอบอะไรบ้างในเรื่องต่างๆ รอบตัว ซึ่งก็รวมทั้งวิชาที่เรียนในโรงเรียนและความสนใจอื่นๆ
นักเรียนจะเริ่มตัดสินใจว่าพวกเขาชอบภาษาอังกฤษที่เป็นวิชาเรียนในโรงเรียน หรือว่าพวกเขาชอบภาษาอังกฤษเพราะมันเป็นทักษะทางสังคมอย่างหนึ่ง หรือเป็นเพราะทั้งสองเหตุผล
ถ้านักเรียนยังรู้สึกสนุกกับการได้ฝึกฝนเรียนรู้ภาษาอังกฤษมาจนถึงวัยนี้แล้ว พวกเขาก็น่าจะเลือกที่จะเรียนภาษาอังกฤษต่อไปเรื่อยๆ
โดยสรุปก็คือความสนุกก็ยังคงเป็นแรงจูงใจสำคัญอยู่ เพียงแต่พวกเขาก็จะเริ่มคิดเริ่มถามกับตัวเองด้วยว่า จริงๆแล้ว พวกเขาชอบและยังสนุกกับการเรียนภาษาอังกฤษอยู่หรือเปล่า
ระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนต้น (เมื่อเด็กอายุ 12-13 ปี) เป็นช่วงที่สำคัญในการพัฒนาภาษาอังกฤษของเด็กๆ
แต่น่าเสียดายที่ภาษาอังกฤษสำหรับเด็กวัยนี้มักถูกนำเสนอในรูปแบบของ “วิชาการในโรงเรียน” มากกว่าการเป็น “ทักษะที่คุ้นเคยและสนุกสนาน” บางครั้งก็เป็นผู้ใหญ่อย่างเราๆเองที่ทำให้เด็กๆเข้าใจไปว่า ภาษาอังกฤษคือการท่องกฎไวยากรณ์มากมายที่บอกว่าแบบนั้นผิดแบบนี้ถูก และต้องเรียนเพื่อเอาไปตอบข้อสอบในโรงเรียน แรงจูงใจของนักเรียนจึงอาจเปลี่ยนไป จากการใช้ภาษาอังกฤษในฐานะ “เครื่องมือในการสื่อสาร” เช่นเดียวกับภาษาต่างๆในโลก ไปสู่การกาถูกผิดลงในกระดาษคำตอบ
จึงเป็นเรื่องน่าเสียดายที่สิ่งเหล่านี้ทำให้เด็กนักเรียนหลายคนที่เคยสนุกกับภาษาอังกฤษรู้สึกว่ามันไม่สนุกอีกต่อไป และเริ่มห่างเหินจากการฝึกใช้ภาษาอังกฤษ
ในระดับชั้นมัธยมศึกษาตอนปลาย (อายุ 16-18 ปี) ที่เด็กๆ เริ่มก้าวเข้าสู่การเป็นวัยรุ่นตอนปลายหรือผู้ใหญ่ตอนต้น (young adult) พวกเขาจำเป็นต้องเลือกและค้นหาแรงจูงใจของตนเองในการเรียนภาษาอังกฤษ
โดยปกติแล้วนักเรียนในช่วงวัยนี้จะรับรู้ได้เองว่า หากสามารถใช้ภาษาอังกฤษในการสื่อสารกับคนอื่นๆ ในสังคมได้ พวกเขาจะสามารถเข้าถึงโอกาสอื่นๆ อีกมากมาย เด็กจะรู้สึกพึงพอใจว่า ทักษะภาษาอังกฤษของตนเองช่วยให้พวกเขาสามารถใช้อินเตอร์เน็ตและสื่อสังคมออนไลน์ได้อย่างอิสระมากขึ้น ช่วยให้พวกเขาสามารถหาเพื่อนใหม่ในอีกซีกโลกหนึ่ง ดูหนัง อ่านหนังสือ ท่องเที่ยวในต่างประเทศ หรือแม้แต่เริ่มตระหนักว่า โอกาสในการทำงานที่ดีในอนาคตของพวกเขาเปิดกว้างมากขึ้น
จึงอาจกล่าวได้ว่า เด็กในวัยนี้จะมีแรงจูงใจที่หลากหลายและจะแตกต่างกันไปในแต่ละบุคคล
การใช้ภาษาอังกฤษเป็นทักษะทางสังคม เป็นเครื่องมือในการใช้ชีวิตและก้าวไปสู่โอกาสที่ดียิ่งขึ้น หากนักเรียนรู้สึกสนุกกับภาษาอังกฤษในแต่ละช่วงวัยและมีพัฒนาการทางภาษาที่ดีขึ้น พวกเขาย่อมมีปัญหาน้อยมากในการพัฒนาไปสู่การใช้ภาษาอังกฤษที่ดี
บางทีปัญหาในการพัฒนาภาษาอังกฤษของเด็กๆ อาจเกิดขึ้นเมื่อผู้ใหญ่อย่างเราๆ ไม่ใส่ใจกับประโยชน์จากการใช้ภาษาอังกฤษในฐานะที่เป็น “ทักษะทางสังคม” แล้วพยายามให้คะแนนและวัดความสามารถทางภาษาอังกฤษของเด็กๆ ด้วยข้อสอบและเกณฑ์ประเมินผลต่างๆ
มาร่วมกันทำให้เด็กๆ รู้สึกสนุกกับการเรียนและใช้ภาษาอังกฤษในแบบ “ภาษาเพื่อการสื่อสาร” ที่มันควรจะเป็นกันดีกว่า